จากการสำรวจพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างที่มีอยู่ในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่งแต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ ช้าง (Rhynchostylis gigantea) ไอยเรศหรือพวงมาลัย (Rhynchostylis retusa) เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis) และช้างฟิลิปปินส์ (Rhynchostylis violacea) สำหรับ 3 ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนช้างฟิลิปปินส์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์
กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ มีลำต้นสั้น แข็งแรง ใบแข็ง หนาค่อนข้างยาว อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจางๆ หลายๆ เส้นตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่าๆ กับความยาวของใบ ดอกมีเป็นจำนวนมากแน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็กๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้นๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บ้างต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ
ช้าง(Rhynchostylis gigantea)
กล้วยไม้ช้างมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ทางตอนใต้ของจีน ประเทศในแถบอินโดจีน อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคา มุกดาหาร สกลนคร เลย นครราชสีมา ต่ำลงมาจนถึงตอนเหนือของภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี และแถบจังหวัดกาญจนบุรี พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าที่มีระดับความสูงประมาณ 260-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล
กล้วยไม้ช้างมีรูปร่างใหญ่โตกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน ใบหนา แข็ง ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นแฉก 2 แฉก มน และสองแฉกของใบไม่เท่ากัน รากเป็นรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกโค้งลง ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ช่อละ 25-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างยาวพอๆ กันกับกลีบนอกบน ส่วนกลีบในเรียวกว่ากลีบนอก เดือยดอกอยู่ในลักษณะเหยียดตรงไปข้างหน้า ปลายแผ่นปากหนาแข็งและปลายสองข้างเบนเข้าหากัน ปลายปากมี 3 แฉก สองแฉกข้างมน แฉกกลางมนและมีขนาดเล็กกว่ามากใกล้โคนปากด้านบนมีสันนูนเตี้ยๆ 2 สัน ดอกมีกลิ่นหอมฉุน หอมไกลดอกบานในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และบานทนได้ประมาณสองหรือสามสัปดาห์ ช้างแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะสีของดอก คือ ช้างกระ ช้างแดง และช้างเผือก ทั้งสามประเภทเป็นพันธุ์แท้พันธุ์เดียวกัน มีลักษณะลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันตรงที่สีของดอก คือช้างกระมีดอกสีขาวประด้วยจุดสีม่วงแดง ช้างแดงดอกมีสีม่วงแดงทั้งดอกหรือเกือบทั้งดอก และช้างเผือกมีดอกสีขาวล้วน นอกจากนี้ยังมี ช้างประหลาด ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างช้างแดงกับช้างกระ สีของดอกมีจุดสีม่วงแดงใหญ่กว่าช้างกระ บางต้นจุดสีมีขนาดใหญ่จนเกือบเต็มกลีบดอก คล้ายกับสีของดอกช้างแดง แต่ยังมีสีขาวของพื้นกลีบดอกเหลืออยู่
กล้วยไม้ช้างเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากเนื่องจากเลี้ยงได้ง่าย ออกดอกทุกปี การที่กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “ช้าง” อาจมาจากสองกรณีคือ ลักษณะที่มีลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น อีกกรณีหนึ่งอาจเป็นเพราะดอกตูมของกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายหัวช้างและมีเดือยดอกคล้ายกับงวงช้าง
ไอยเรศหรือพวงมาลัย(Rhynchostylis retusa)
ไอยเรศเป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายไปทั่วประเทศไทยและในประเทศศรีลังกา เนปาล ภูฎาน พม่า จีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว ในประเทศไทยพบในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 150-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ไอยเรศมีลำต้นใหญ่แข็งแรงคล้ายกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า ใบยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง ปลายใบมีลักษณะเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก โค้งห้อยลง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอก มากกว่ากล้วยไม้ช้าง รูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พวงมาลัย” ต้นใหญ่ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอใหญ่ขึ้นได้ ดอกขนาดมีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน แผ่นปากมีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคนและปลายสุดแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ไอยเรศที่มีดอกสีขาว ไม่มีสีม่วงปะปนอยู่เลย เรียก "ไอยเรศเผือก" ซึ่งหาได้ยาก
ไอยเรศปลูกเลี้ยงได้ง่าย ให้ดอกทุกปี และชอบแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้าง การปลูกอาจเกาะไว้กับกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือจะปลูกลงกระเช้าไม้ แขวนไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ควรให้ได้รับแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้างเล็กน้อย และควรปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เนื่องจากช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ต้นและรากเติบโตดี
เขาแกะ(Rhynchostylis coelestis)
เขาแกะมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย มักพบขึ้นในป่าโปร่งผลัดใบ ทั้งในภูมิภาคที่เป็นภูเขาและที่ราบ เป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลช้างที่มีลักษณะช่อดอกตั้งขึ้น ใบมีลักษณะแบนคล้ายแวนด้า ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และบางกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โคนใบซ้อนกันเป็นแผง ใบโค้งสลับกันในทางตรงกันข้าม ด้วยลักษณะนี้เองจึงได้ชื่อว่า “เขาแกะ” ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกทั้งกลีบนอกและกลีบในมีพื้นสีขาว มีแต้มสีม่วงครามที่ปลายกลีบทุกกลีบ ฐานของแผ่นปากและครึ่งหนึ่งของแผ่นปากที่ต่อกับฐานมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของแผ่นปากเป็นสีม่วงครามเช่นเดียวกับที่ปลายกลีบแต่สีเข้มกว่า ปากของเขาแกะคล้ายกับปากของไอยเรศ สีม่วงครามของเขาแกะบางต้นอาจมีสีต่างออกไป เช่น มีสีม่วงมากจนเกือบแดง เรียกว่า “เขาแกะแดง” บางต้นมีสีไปทางสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน บางต้นดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เรียกว่า “เขาแกะเผือก” ซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก เดือยดอกยาวกว่าและแคบกว่าของไอยเรศ ปลายของเดือยดอกโค้งลง ดอกบานทนประมาณสองสัปดาห์ ฤดูออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม
เขาแกะเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดและอากาศถ่ายเทมากกว่าไอยเรศและช้าง อาจปลูกติดไว้กับต้นไม้ ท่อนไม้ หรือปลูกลงกระเช้าไม้ เนื่องจากปลูกเลี้ยงได้ง่าย ช่อดอกตั้ง สีของดอกเป็นสีม่วงครามหรือใกล้ไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยากในกล้วยไม้ทั่วๆ ไป จึงนิยมนำเขาแกะไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้ชนิดอื่นอีกหลายชนิดโดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุลใกล้เคียงกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เพื่อพัฒนาเป็นกล้วยไม้ตัดดอกหรือเป็นกล้วยไม้ประเภทสวยงาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น